top of page

[Review] รีวิวฉบับรวดรัดสารคดี Tokyo Idols

รีวิวฉบับรวดรัดสารคดี Tokyo Idols

.

Tokyo Idols เป็นสารคดีญี่ปุ่น กำกับโดย Kyoko Miyake จัดฉายที่ไทยโดย Documentary Club โดยส่วนตัวตัดสินใจไปดูสารคดีเรื่องนี้เพราะความที่ผูกพันกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นและการเติบโตพร้อมเหล่าไอดอลญี่ปุ่นชายเมนสตรีมที่เป็นเทรนด์ช่วงมัธยม ทำให้พอจะเข้าใจสังคมอันซับซ้อนและเปราะบางของประเทศที่รักนี้ คนที่ตัดสินใจมาดูไม่จำเป็นต้องชอบหรือเข้าใจญี่ปุ่นมาก่อน แต่อย่างน้อยต้องชอบสารคดีไม่อย่างนั้นอาจจะไม่สามารถเข้าใจเรื่องราวที่เฉพาะเจาะจงและเจาะลึกไปได้

.

สารคดีเรื่องนี้ไม่ได้พูดถึงแค่ตัวไอดอลหรือแฟนคลับแค่ผิวเผิน แต่วิเคราะห์ถึงวัฒนธรรมไอดอลในหลายแง่โดยเอาผู้เชี่ยวชาญมานั่งคุยกันเป็นข้อมูลเสริม ระหว่างดูเรารู้สึกหลายอย่างตีกันเหมือนนั่งรถไฟเหาะ เดี๋ยวก็ขึ้นเดี๋ยวก็ลง บ้างก็รู้สึกถึงความโดดเดี่ยวของผู้ชายโอตาคุ, ความพยายามของหญิงสาวในการถึงความฝัน, การที่ไอดอลเอาเปรียบความรู้สึกของฝ่ายชายโดยใช้ประโยชน์เพื่อไปถึงฝัน, การที่โอตาคุใช้ความสดใสของหญิงสาวในการทำให้ตัวเองมีความสุข, การที่ความสัมพันธ์สองฝั่งมันพึ่งพากันและกันไม่มีใครเอาเปรียบใคร, ความสำคัญของการต้องเป็นผู้หญิง"น่ารัก"ในสังคมญี่ปุ่น, การสนับสนุนจากคนที่รักและครอบครัว รวมไปถึงความรู้สึกกระอักกระอ่วนกับอายุที่เด็กลงเรื่อยๆ ของการเป็นไอดอล ซึ่งด้วยการนำเสนอแบบนี้ทำให้เราชอบสารคดีเรื่องนี้ เพราะไม่ฉาบน้ำตาล ไม่ได้ทำให้เป็นแง่ร้าย เพราะปกติถึงแม้คนจะเชื่อว่าสารคดีคือการเล่าความจริง แต่นั่นคือการเข้าใจผิด คนทำหนังรู้ว่าเขาต้องการทำหนังอะไรและต้องการให้คนดูรู้สึกอย่างไร แต่กับเรื่องนี้ไม่มีการชี้นำคือ แมนๆ คุยกันให้เห็นทุกด้าน ให้เข้าใจทุกคน

.

เมนหลักของเรื่องคือการตามไอดอล "ริโอะ"และผู้ชายที่เป็นหัวหน้าแฟนคลับเธอ ซึ่งเราคิดว่าเป็นการเลือกตัวหลักที่ถูกต้องมาก ทั้งตัวริโอะและหัวหน้าแฟนคลับมีเรื่องราวที่ถักทอกันอยู่ทั้งสองด้าน ทั้งด้านที่พูดถึงความพยายามของหญิงสาว ความทุ่มเทของแฟนคลับและการที่เธอทำให้เขาฮึดสู้อีกครั้ง สตอรี่ไลน์นี้มีความสวยงามในตัวของมันเอง ริโอะไม่ทำให้เราหมั่นไส้หรือรำคาญ ครอบครัวของเธอทำให้เรารู้สึกว่ารู้จักเธอและหัวหน้าแฟนคลับไม่ได้เป็นคนน่ากลัวแต่เขากลับมีแนวคิดที่ทำให้เราเข้าใจและอยากให้เขามีความสุข ฉากปั่นจักรยานมันเป็นฉากแสดงความสัมพันธ์ที่บริสุทธิ์มากของเหล่า"บราเธอรส์" เราถือว่าฉากนี้เป็นการพังทลายความรู้สึกไม่แน่ใจในตัวริโอะและเหล่าโอตาคุกับคนดูที่ดีมากทีเดียว

.

สำหรับสตอรี่ไลน์รองๆ ลงมาก็จะมีการตามไปสัมภาษณ์โอตาคุคนอื่นกับวงสาวน้อยอื่นๆ ซึ่งบางคนก็มีความคิดเหมือนโอตาคุที่เราเห็นๆ กัน คำพูดสั้นๆ สามารถทำให้เรารู้สึกถึงความไม่มั่นใจและความโดดเดี่ยวของเขาได้ สำหรับสตอรี่ไลน์พีคสุดของเราก็คือการที่พูดถึงวงของเด็กอายุสิบขวบในตอนท้าย ภาพเหล่าเด็กๆ กับแฟนๆ มันค่อนข้างจะก่อกวนจิตใจเราอย่างมาก ถึงแม้เหล่าแฟนคลับจะมีเป็นชายหนุ่มอายุยี่สิบกว่าด้วยแต่คำพูดแบบ "ถ้าพวกเขาโตกว่านี้ผมก็ไม่สนใจ" มันเป็นเส้นบางๆ แบบบางมากๆ ของแฟนคลับกับ Pedophile ตอนเรามองเด็กเหล่านี้ เราเห็นตัวละครอะนิเมะที่ทำให้มีในชีวิตจริง หนังทำได้ดีกับเอาบทสัมภาษณ์ของเหล่านักข่าว นักสังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์มาวิเคราะห์ปรากฏการณ์นี้และตีความในหลายด้าน เราชอบประโยคหนึ่งที่พูดประมาณว่า วัฒนธรรมไอดอลนี้จะมีเพศหญิงเป็นใหญ่ แต่นั่นก็เป็นเพียงเรื่องเดียวที่ญี่ปุ่นอนุญาตให้ผู้หญิงสำคัญกว่าผู้ชายได้ และสุดท้ายผู้หญิงก็ถูกทำให้เชื่อฝังหัวว่าตัวเองต้องเป็นผู้หญิงแบบนี้ๆ ถึงจะประสบความสำเร็จได้ ความจริงนี้กระแทกความรู้สึกแบบพูดไม่ออกเลยทีเดียว

.

สรุปแล้ว เราแนะนำให้ไปดูมาก การตัดต่อ การเล่าเรื่อง กล้องก็ดี มีหลายซีนเป็นแนวฟุ้งๆ เหมือนฝัน เนื้อเรื่องไม่หนักและไม่เบาเกินไป อ้อ แล้วก็พ่อของริโอะก็เท่มากเช่นกัน ;)

เทรเลอร์

ผู้กำกับ Kyoko Miyake อธิบายถึงที่มาของสารคดีกับ Sundance Institute & Sundance Film Festival

.

*งานเขียนเก่า

*รูปจากอินเตอร์เน็ต

Recent Posts
Category
bottom of page