top of page

[Review] Siddhartha by Hermann Hesse


Siddhartha หรือ สิทธัตถะ เป็นหนังสือ"นิยาย"ภาษาอังกฤษที่เราได้มาประมาณ 1 ปีที่แล้วแต่เพิ่งจะมาได้อ่าน เป็นหนังสือมือสอง(สามสี่)เล่มเล็กๆแบบพกพา อ่านค่อนข้างง่าย มีศัพท์ที่ไม่เข้าใจบ้างหรือถึงเข้าใจก็ต้องตีความเพราะเป็นปรัชญาตะวันออกผสมพระพุทธศาสนาด้วย คนแต่งหนังสือเล่มนี้คือ Hermann Hesse เป็นคนเยอรมัน เห็นว่าหนังสือเล่มนี้เขียนตอนไปอินเดียและหนังสือเล่มนี้ก็ดังที่สุดของเขา . สำหรับชื่อหนังสือ เราไม่แน่ใจเหมือนกันว่าทำไมถึงใช้ชื่อว่า สิทธัตถะหรือทำไมให้ตัวเอกชื่อนี้ เพราะในเรื่องเป็นยุคสมัยที่พระพุทธเจ้ามีชีวิตอยู่และสิทธัตถะเองก็ได้สนทนาธรรมตัวเป็นๆ กับท่านด้วย โดยในเรื่องนี้จะเรียกพระพุทธเจ้าว่า "โคตมะ" ซึ่งเป็นเพียงตัวละครที่ผ่านไปมาเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งเป็นตัวหลักหรือตัวรองในเรื่อง . เรื่องย่อของสิทธัตถะพูดถึงการค้นหาความหมายของชีวิต โดยเริ่มตั้งแต่เมื่อสิทธัตถะยังเป็นเด็ก เริ่มศึกษาหลายๆ ศาสตร์ เป็นทั้งพราหมณ์ เป็นสมณะ เจอพระพุทธเจ้าแต่ก็ยังมีข้อกังขาจึงเลือกเดินทางต่อ ไม่บวชพระเหมือนเพื่อนรัก "โควินทะ" จากนั้นไปเจอหญิงสาว ไปเจอพ่อค้า เริ่มหลงกับชีวิตทางโลกจนวันหนึ่งรู้สึกตัวจึงเลือกออกเดินทางอีกครั้ง ก่อนไปนั่งริมน้ำ พบความหมายของชีวิตโดยฟังเสียงแม่น้ำ ฟังเสียง "โอม"และเลือกเป็นเพียงคนแจวเรือสมถะในบั้นปลาย . สำหรับความรู้สึกเราต่อหนังสือเล่มนี้ ตอนเราอ่านเราไม่คิดว่าคือหนังสือธรรมะเลย (ไม่งั้นไม่อ่าน) ชอบการเล่าเรื่อง แก่นหลักคือการเรียนรู้สัจธรรมของชีวิตด้วยการใช้ชีวิต เราชอบที่พูดถึงการไม่คิดว่า"คนอื่นที่ยังไม่เห็น"ต่ำกว่าตน (ซึ่งสิทธัตถะเป็นเช่นนั้นตลอดทั้งเรื่องทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว) รวมถึงการออกเดินทางค้นหาสัจธรรมของชีวิตจนไม่พบความสงบสุข แต่ในขณะเดียวกันเรากลับไม่แน่ใจว่าเราชอบตอนจบที่สิทธัตถะได้พบกับโคตมะอีกครั้งและสนทนากัน เพราะมันให้ความรู้สึกเหมือน"โคตมะ"ที่บวชมานานยังคงโง่เขลากว่าสิทธัตถะ(ที่ตลอดทั้งเล่มพูดถึงความเป็นปราชญ์และความฉลาดกว่าโคตมะตั้งแต่เด็กจนแยกจากกัน) แต่บางคนก็บอกว่าเป็นแก่นที่เสนอว่าการที่โคตมะยึดถือเพียงคำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ได้ช่วยให้พบทางสว่างหากแต่ต้องเห็นเองด้วย ซึ่งความจริงแล้วเราอ่านมาทั้งเล่มไม่ได้รู้สึกเหมือนถูกสอนสั่งเลย มีบางตอนที่ชอบมากและเห็นด้วยด้วยซ้ำ แต่พอถึงตอนจบเรากลับรู้สึกถูกสอนสั่งจากคนเขียนว่าชีวิตคืออะไร โลกคืออะไร และพระพุทธเจ้ากับเขาเห็นต่างเรื่อง"ความจริง"อย่างไร​(และพอมันออกมาจากตัวละครสิทธัตถะที่คนอ่านรู้จักและคล้อยตามมาทั้งเรื่อง มันยิ่งทำให้สิทธัตถะดูเก่งและน่าเชื่อถือกว่าพระพุทธเจ้าเสียอีก) แต่พอคิดเสียว่ามันคือสิ่งที่ตัวละครหลักสิทธัตถะได้เรียนรู้ในชีวิตของเขาเอง เราก็ปล่อยวางความคิดไม่เห็นด้วยลง ความจริงเราไม่แน่ใจว่าบทสรุปของ"ชีวิต"ที่สิทธัตถะกับพระพุทธเจ้าพูดถึงคือเรื่องเดียวกันหรือไม่ด้วยซ้ำ (ถึงแม้สิทธัตถะกล่าวว่าเขาเห็นต่าง แต่เรากลับรู้สึกว่าเขาพูดกันคนละเรื่อง) เราอาจจะต้องหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านอีกครั้งในอนาคตเมื่อเราได้เข้าใจธรรมะมากขึ้นและตอนนั้นเราอาจจะเข้าใจตอนจบของหนังสือเล่มนี้เป็นอีกแบบหนึ่งก็เป็นได้

Recent Posts
Category
bottom of page